Posts Tagged ‘ธุรกิจการศึกษา’

ก้าวย่างของธุรกิจการศึกษาไทยสู่ ประตู AEC ทีเปิดกว้าง

หลังจากการเปิดเสรีภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) ในปี 2558 บทบาทของธุรกิจการศึกษาคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เนื่องจากการศึกษาเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน รวมถึงเพิ่มศักยภาพในการขยายการค้าและการลงทุนไปยังตลาดอาเซียน ก่อนเวลานั้นมาถึงอยากทราบว่าปัจจุบันวงการการศึกษาไทยอยู่ตรงไหนในอาเซียน

เมื่อเทียบกับหลายประเทศในอาเซียนแล้ว วงการการศึกษาไทยนับว่ามีศักยภาพสูงเป็นอันดับต้นๆ โดยมีมหาวิทยาลัย 2 แห่งของไทยติดอันดับมหาวิทยาลัยดีที่สุด 400 อันดับแรกของโลกปี 2554 ซึ่งจัดอันดับพร้อมทั้งให้คะแนนโดย Quacquarelli Symonds (QS) นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยของไทยยังได้รับความนิยมในฐานะที่เป็นจุดหมายของการศึกษาต่อของนักศึกษาประเทศเพื่อนบ้านทั้ง สปป.ลาว กัมพูชา และพม่า ขณะที่ภาษาไทยเองก็เริ่มเป็นที่นิยมในการเรียนเช่นเดียวกัน เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านมองว่าภาษาไทยมีความสำคัญในการสื่อสารและการจ้างงาน จนมีนักวิเคราะห์บางรายมองว่าที่ตั้งของไทยซึ่งอยู่ใจกลางของอาเซียนเป็นปัจจัยเอื้อให้เมื่อเปิด AEC แล้ว ภาษาไทยอาจกลายเป็นภาษากลางของอาเซียนทัดเทียมภาษาอังกฤษเลยทีเดียว อันจะยิ่งดึงดูดให้นักศึกษาจากประเทศอื่นๆ ในอาเซียนเดินทางเข้ามาศึกษาต่อในไทยมากขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อธุรกิจด้านการศึกษาของไทย อย่างไรก็ตาม หลังจากการเปิด AEC วงการศึกษาไทยอาจต้องเผชิญคู่แข่งอย่างสิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ซึ่งมีข้อได้เปรียบตรงที่เมื่อมองโดยภาพรวมแล้วทักษะการใช้ภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษากลางของโลกอยู่ในระดับดีกว่าไทย

ผู้ประกอบการธุรกิจการศึกษายังมีโอกาสขยายตลาดอีกมากหากพิจารณาจากความต้องการทางการศึกษาที่เพิ่มขึ้นตามจำนวนประชากรอาเซียน โดยหลังจากเปิด AEC แล้ว ผู้ประกอบการไทยสามารถดำเนินกิจการหลากหลายรูปแบบได้ง่ายขึ้น อาทิ การให้บริการการศึกษาแบบออนไลน์ การตั้งสถาบันการศึกษาหรือวิทยาเขตในอาเซียน รวมทั้งการส่งบุคลากรครูไปสอนยังประเทศต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการบริการด้านการศึกษาที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การเปิดเสรีภายใต้ AEC ด้านการศึกษาอาจต้องเผชิญกับข้อจำกัดด้านกฎหมายของประเทศต่างๆ อาทิ การจำกัดจำนวนผู้ให้บริการด้านการศึกษา สิทธิในการถือครองที่ดินของนักลงทุนต่างชาติ มาตรการด้านภาษีที่ไม่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจดังกล่าวของนักลงทุนต่างชาติ และการขอใบอนุญาตด้านการให้บริการ ทั้งนี้ การเปิดเสรีด้านการให้บริการการศึกษาจะสำเร็จได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากประเทศสมาชิกในการแก้ไขกฎหมายบางข้อให้เอื้อต่อการลงทุนของต่างชาติมากขึ้น นอกจากนี้ ผู้ประกอบการก็ควรให้ความสำคัญกับความหลากหลายของวัฒนธรรมของประเทศในอาเซียนที่ต้องการขยายตลาด เพื่อประกอบการวางนโยบายด้านต่างๆ ของสถานศึกษา อาทิ คอร์สที่เปิดสอน รวมทั้งกฎระเบียบต่างๆ

 

แฟรนไชส์ ธุรกิจการศึกษามาแรงยังคงได้รับความนิยม ธุรกิจมีแนวโน้มเติบโตอย่างสูง

556000016202901ธุรกิจการศึกษาโอกาสโตสดใส ผู้ปกครองต้องการเพิ่มศักยภาพให้แก่ลูกหลาน  ธุรกิจการศึกษาเพื่อเสริมความรู้และทักษะเติบโตต่อเนื่อง และคาดการณ์ปี 2557 แฟรนไชส์กวดวิชาและสอนภาษายังคงได้รับความนิยม ธุรกิจมีแนวโน้มเติบโตอย่างสูงมาจากปัจจัยค่านิยมของผู้คนในสังคมที่ต้องการพัฒนาศักยภาพของตนเองและค่านิยมของผู้ปกครองในการปลูกฝังทักษะต่างๆ สำหรับบุตรหลาน นำมาซึ่งโอกาสทางธุรกิจที่สำคัญสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจการศึกษาเพื่อเสริมความรู้และทักษะ

ประมาณการว่า ในปี 2556 ธุรกิจการศึกษาเพื่อเสริมความรู้และทักษะจะมีมูลค่าตลาดประมาณ 16,698 ล้านบาท และจะเติบโตร้อยละ 15.43 ไปสู่มูลค่าตลาดประมาณ 19,275 ในปี 2557 โดยแบ่งเป็นมูลค่าตลาดธุรกิจการศึกษาเพื่อเสริมความรู้และทักษะในกลุ่มที่ไม่ใช่แฟรนไชส์ประมาณ 16,438 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 14.68 จากปี 2556 ในขณะที่เป็นมูลค่าตลาดธุรกิจการศึกษาเพื่อเสริมความรู้และทักษะในกลุ่มที่เป็นแฟรนไชส์ประมาณ 2,837 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 20.00 จากปี 2556

แฟรนไชส์ธุรกิจการศึกษาเพื่อเสริมความรู้และทักษะ หรือแฟรนไชซอร์ในแต่ละปีไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก แต่จำนวนผู้ลงทุนในแฟรนไชส์ธุรกิจการศึกษาเพื่อเสริมความรู้และทักษะ หรือแฟรนไชซี  ที่เพิ่มมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากการขยายตัวของจำนวนสาขาแฟรนไชส์ธุรกิจการศึกษาเพื่อเสริมความรู้และทักษะที่มีการกระจายตัวไปในจังหวัดรองของภูมิภาคต่างๆ ประกอบกับการจัดเก็บค่าธรรมเนียมที่สูงขึ้นของเจ้าของสิทธิแฟรนไชส์ธุรกิจการศึกษาเพื่อเสริมความรู้และทักษะ ทั้งค่าธรรมเนียมแรกเข้า (Franchise Fee) และค่าธรรมเนียมตามสัดส่วนผลการดำเนินงาน (Royalty Fee) เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้มูลค่าตลาดธุรกิจการศึกษาเพื่อเสริมความรู้และทักษะในกลุ่มที่เป็นแฟรนไชส์ขยายตัวอย่างรวดเร็ว

ธุรกิจการศึกษาเพื่อเสริมความรู้และทักษะที่น่าสนใจสำหรับการลงทุนในรูปแบบแฟรนไชส์ที่ยังคงสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่องท่ามกลางความไม่แน่นอนของสภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2557 ข้างหน้า ได้แก่ แฟรนไชส์ธุรกิจโรงเรียนกวดวิชา และแฟรนไชส์ธุรกิจสถาบันสอนภาษาต่างชาติ เนื่องจากยังมีความต้องการในตลาดอย่างต่อเนื่องจากการสอบแข่งขันเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยของนักเรียน และการเปิด AEC ซึ่งจะเห็นได้ว่าผู้ประกอบการแฟรนไชส์ธุรกิจการศึกษาเพื่อเสริมความรู้และทักษะทั้งสองกลุ่มดังกล่าวได้มีการปรับกลยุทธ์ ไม่ว่าจะเป็นการมุ่งเน้นคุณภาพของผู้สอน การปรับหลักสูตร การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเรียนการสอน รวมถึงการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายในรูปแบบต่างๆ เพื่อรองรับการแข่งขันที่สูงขึ้น และตอบสนองต่อพฤติกรรมและความต้องการของผู้เรียนที่เปลี่ยนแปลงไป

ศาสตร์แห่งการถ่ายทอดความรู้ทางธุรกิจเพื่อให้ประชาชนมีทักษะในการทำงาน


ธุรกิจศึกษาเกิดขึ้นมาในยุคไล่เลี่ยกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมในฝั่งตะวันตก

เมื่อเริ่มมีการตั้งโรงงานผลิตสินค้าเพื่อทำการผลิตสินค้าจำนวนมากๆออกวางขาย ก็ส่งผลให้มีสินค้าหลากหลายชนิดทะลักสู่ท้องตลาด ประชาชนจากชนบทเริ่มทยอยเข้ามาอาศัยและทำงานอยู่ในเมือง โดยเฉพาะการทำงานในโรงงาน จึงเกิดเป็นสังคมอุตสาหกรรมขึ้นมา มีการแข่งขันค้าขายกันมากขึ้น กระบวนการแลกเปลี่ยนของต่อของก็เปลี่ยนเป็นการแลกเปลี่ยนของกับเงินแทน อุตสาหกรรมและการค้าขยายตัวทวีความซับซ้อนเพิ่มขึ้น จึงเกิดความต้องการแรงงานทั้งในภาคผลิตและภาคธุรกิจมากมายโดยเฉพาะคนที่มีความรู้และทักษะในงานธุรกิจ จึงเกิดมีโรงเรียนที่เปิดสอนวิชาที่เกี่ยวกับงานธุรกิจ โดยเฉพาะวิชาพิมพ์ดีดได้เปิดโอกาสให้สตรีมีโอกาสเข้ามาทำงานในภาคธุรกิจได้อย่างเต็มตัว ซึ่งการจัดการเรียนการสอนวิชาเหล่านี้ก็คือการจัดธุรกิจศึกษาในยุคแรก

การจัดการการศึกษาไม่ว่ารูปแบบใดจะต้องมีการขออนุญาต

มีหน่วยงานที่ควบคุมมาตรฐาน หลักสูตร กระบวนการหรือมีใบอนุญาตให้จัดตั้ง สำหรับผู้ที่อยู่นอกวงการการศึกษาบางครั้งอยากตั้งสถานศึกษาขึ้น ด้วยคิดว่าเป็นธุรกิจที่มั่นคง เพราะคนเราต้องพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว นอกจากนี้การศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และมีคนในประเทศอีกมากมายที่ต้องการรับการศึกษา ดังนั้นถ้าทำธุรกิจทางการศึกษาก็จะได้กำไรมากว่าจะขาดทุนหรือล้มละลาย โดยเป้าหมายทางธุรกิจมักจะมุ่งไปสู่การพัฒนาองค์กรให้สามารถมีวัตถุดิบที่ดี มีกระบวนการที่มีประสิทธิภาพ ลงทุนน้อยได้ผลผลิตสูง มีตลาดรองรับและสามารถทำผลประโยชน์ได้สูงสุด

เป้าหมายทางธุรกิจการศึกษามีความแตกต่างอย่างมาก

เพราะวัตถุดิบนั้นเป็นมนุษย์ไม่ใช่วัตถุที่สามารถจะเลือกได้ให้เหมือนกันได้หมด ความแตกต่างหลากหลายของปัจจัยนำเข้าระหว่างธุรกิจ กับธุรกิจการศึกษาจึงแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ปัจจัยนำเข้าของธุรกิจการศึกษาก็เป็นลูกค้าของสถาบันการศึกษาซึ่งต้องเสียเงินเข้ามารับบริการการศึกษา ธุรกิจการศึกษาจึงเป็นธุรกิจที่ซับซ้อน เป้าหมายธุรกิจการศึกษาจะต้องแตกต่างจากเป้าหมายทางธุรกิจ นั่นคือโดยปรัชญาแล้วสถาบันการศึกษาจะต้องเป็นสถาบันที่ไม่มุ่งหวังกำไร ผู้ทำธุรกิจอาจแย้งอยู่ว่าทำธุรกิจไม่หวังกำไรจะทำไปทำไม

ธุรกิจการศึกษาเป็นการจัดการศึกษาซึ่งเอกชนเป็นหน่วยรับภาระการจัดการการศึกษาทั้งระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและระดับอุดมศึกษา การจัดการดังกล่าวจำเป็นต้องให้ผู้เรียนเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายในการเรียนทั้งหมดสำหรับบางความรู้จะเน้นธุรกิจการศึกษาระดับอุดมศึกษาเท่านั้น เนื่องจากรูปแบบของธุรกิจการศึกษาอาจจะจัดในรูปของหลักสูตรระยะสั้น ระยะยาว เป็นทางการ กึ่งทางการโดยมีวัตถุประสงค์ให้ผู้เข้ารับการศึกษาได้เพิ่มพูนความรู้ ประสบการณ์ ทักษะ กระบวนการ และความชำนาญในศาสตร์ใดก็ได้ ดังนั้นจึงมีตั้งแต่โรงเรียนกวดวิชา ซึ่งอาจจะไม่มีสถานที่ของตนเองเป็นการเช่าสถานที่ ห้องเรียนเพียงห้องสองห้องไปจนกระทั่งเป็นสถาบันการศึกษาที่มีเนื้อที่หลายร้อยไร่ ต้องการเรียนหลากหลายมีผู้เรียนนับหมื่นคน